วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552

แมวพันธุ์ขาวมณี


เป็นแมวไทยที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันค่อนข้างมาก แม้จะไม่ได้มีปรากฏอยู่ในตำราสมุดข่อย แต่พอจะมีหลักฐานอยู่บ้างตามจิตรกรรมฝาผนังวัดต่างๆในเขตธนบุรี อาทิ วัดทองนพคุณ ซึ่งมีภาพวาดแมวขาวปลอดอยู่ในอุโบสถ แต่ประการสำคัญที่ทำให้เชื่อว่า แมวขาวมณีเป็นแมวไทยอีกชนิดหนึ่งนั้น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมวไทยท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะรูปร่าสงและลักษณะนิสัยเหมือนแมวไทยอย่างชัดเจน จึงน่าจะเป็นแมวไทยอีกพันธุ์หนึ่งอย่างแน่นอน


ลักษณะของแมวขาวมณีคือ มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะ ขนสั้นแน่นอ่อนนุ่ม สีขนเป็นสีขาวปลอดทั้งตัว หากมีสีอื่นแซมจะไม่ใช่แมวพันธุ์แท้ ศีรษะไม่กลมหรือแหลมเกินไป รูปร่างคล้ายรูปหัวใจ หน้าผากแบน จมูกสั้น หูใหญ่ตั้งเด่นสง่า หางยาวปลายแหลมชี้ตรง ขายาวเรียวได้สัดส่วน ดวงตาไม่กลม แต่เป็นรูปทรงรีคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ มีตาเพียงสองสี คือสีฟ้าและสีเหลืองอำพัน เอนำแมวที่มีตาสองสีนี้มาผสมกันเอง จะได้แมวที่มีตาสองสี คือสีฟ้าข้างหนึ่ง สีเหลืองอำพันอีกข้างหนึ่ง (Odd Eyes)


แมวพันธุ์นี้มีนิสัยเหมือนแมวไทยพันธุ์อื่นๆ ถ้าเลี้ยงดีๆจะเชื่องมาก เหมาะกับการเลี้ยงดูเป็นเพื่อนเล่นหรือเพื่อนแก้เหงาเป็นอย่างดี

แมวพันธุ์โคราช


โคราช หรือเรียกอีกอย่างว่าแมวสีสวาด โบราณเรียกว่าแมวมาเลศหรือแมวดอกเลา เป็นแมวที่ มีขนาดกลาง ขนสั้น สีสวาด (Silver Blue) ถ้ามีสีอื่นปะปนจะไม่เป็นพันธุ์แท้ ดวงตาของแมวโคราช เป็นดวงตาที่มีพลังดึงดูดอย่างน่าประหลาด มันกลมโตและมีเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง ลูกแมวที่เกิดใหม่ในตอนแรกดวงตาจะมีสีฟ้า แต่จะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองอำพันเมื่อโตขึ้น และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวใบไม้เมื่อโตแล้ว ศีรษะเมื่อดูจากด้านหน้าจะเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่และแบน ในแมวตัวผู้ หน้าผากจะมีรอยหยัก ซึ่งทำให้เห็นรูปหัวใจอย่างเด่นชัด คางและกรามแข็งแรง หูใหญ่ตั้งเด่นบนศีรษะแสดงอาการตื่นตัว


โคราช เป็นแมวที่มีความสามารถในการได้ยินเสียงอย่างดีเยี่ยม และยังมีอุปนิสัยสุภาพ การเดินเยื้องย่างดูมีความสง่าและนุ่มนวล ไม่ค่อยชอบเสียงดังเท่าไรนัก เป็นแมวที่ฉลาด ฝึกได้ง่าย ขี้อ้อน ติดเจ้าของ เชื่องเข้ากับเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆได้เป็นอย่างดี


แมวโคราชเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่รักของชาวไทยมาเป็นเวลาร่วมศตวรรษแล้ว โดยมีถิ่นกำเนิดที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยในสมัยโบราณเชื่อว่า แมวโคราชเป็นแมวแห่งโชคลาภ ซึ่งจะนำความสุขสวัสดิ์มงคลให้แด่ผู้เลี้ยง และเนื่องจากสีขนที่เป็นสีสวาด คล้ายสีของเมฆ อันเป็นที่มาของฝนที่ตกมารดสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ไร่นาพืชผล ส่วนสีตาก็เป็นเหมือนดังสีเขียวของต้นกล้าของข้าว ซึ่งจะออกรวงเป็นเมล็ดข้าวต่อไป ดังนั้นแมวโคราช จึงเป็นแมวที่ใช้ในพิธีขอฝนในสมัยนั้น


แมวโคราชเป็นหนึ่งในแมวที่ปรากฏในสมุดข่อยโบราณที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตรเห็นแมวโคราชเป็นครั้งแรก ก็ได้ทรงรับสั่งถามว่า แมวที่สวยงามตัวนี้มาจากที่ใด เมื่อได้รับคำตอบว่าโคราช จึงเป็นที่มาของชื่อแมวสายพันธุ์นี้


ในปี ค.ศ. 1959 แมวโคราชตัวแรกได้ถูกนำเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนางยีน จอห์นสัน ผู้เคยติดตามสามีมาทำงานในกรุงเทพฯ ได้นำมาเลี้ยงและเผยแพร่ จนเป็นที่นิยม และมีการตั้งสมาคมผู้นิยมเลี้ยงแมวไทยพันธุ์โคราชในสหรัฐอเมริกา และได้รับการจดทะเบียนกับ CFA ในปี ค.ศ. 1966

พันธุ์ศุภลักษณ์

แมวศุภลักษณ์หรือทองแดง ซึ่งปรากฏในสมุดข่อยโบราณนั้น ในสายตาของชาวต่างชาติเชื่อว่าเป็นแมวพม่า เพราะในปี พ.ศ. 2473 Dr. Joseph Thompson ชาวอเมริกัน ได้นำแมวสีน้ำตาลเพศเมียออกจากประเทศพม่า กลับไปที่ซานฟรานซิสโก เขาเห็นว่าแมวนี้มีรูปร่างลักษณะที่ดี จึงไปจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษและตั้งชื่อว่าแมวพม่า (Burmese) จนกลายเป็นแมวที่มีผู้นิยมเลี้ยงกันมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก นอกจากในสมุดข่อยโบราณของไทยที่ได้กล่าวถึงแมวชนิดนี้แล้ว ผู้รู้ในเมืองไทยหลายท่านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า แมวทองแดงนี้น่าจะเป็นแมวไทยนั่นเอง เพราะโครงสร้างของร่างกายและลักษณะนิสัยเหมือนกับแมวไทย เล่ากันว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พม่ากวาดต้อนคนไทยจำนวนหนึ่งไปเป็นเชลยที่ประเทศพม่า แมวชนิดนี้คงจะติดตามเจ้าของไปที่พม่าด้วย และเนื่องจากเป็นแมวชั้นสูงเช่นเดียวกับแมวไทยพันธุ์อื่น พวกขุนนางพม่าจึงนิยมเลี้ยงกัน จนกระทั่งมีชาวต่างชาติไปพบเข้าจึงเรียกว่าเป็นแมวพม่า ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า แมวไทยเป็นแมวพันธุ์แท้ที่มีสายเลือดเข้มข้นมาก แม้ลูกแมวที่เกิดจากการผสมจะมีรูปร่างเหมือนแมวไทย แต่จะไม่มีนิสัยเหมือนแมวไทย ดังนั้นแมวทองแดงซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนแมวไทยทุกประการจึงน่าจะเป็นแมวไทยแน่นอน แมวทองแดงมีรูปร่างขนาดกลาง สง่า น้ำหนักพอประมาณ มีโครงสร้างที่แข็งแรง หลังโค้ง ขายาวเรียว แต่เท้าอวบ หางยาวเรียวเหยียดตรง ศีรษะค่อนข้างกลมกว้าง สีขนออกสีน้ำตาลเข้มคล้ายสีสนิมหรือสีทองแดง แต่จะมีสีเข้มมากขึ้นบริเวณส่วนหูและใบหน้า และที่สำคัญตาจะเป็นสีเหลืองคล้ายสีอำพัน หนวดมีสีแวววาวเหมือนกับลวดทองแดง


แมวทองแดงมักเป็นแมวที่กระตือรือร้นตลอดเวลา อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย สนใจสิ่งต่างๆรอบตัวเสมอ และค่อนข้างจะร้ายพอสมควรกับคนแปลกหน้า น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ แมวทองแดงค่อนข้างจะหายก เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าแมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดงนี้คือแมวไทยแท้

พันธุ์วิเชียรมาศ



แมวไทยสายพันธุ์แรกที่ชาวต่างประเทศรู้จักและเรียกว่า Siamese คือแมวไทยที่มีชื่อมาแต่โบราณว่า "วิเชียรมาศ" ในสมุดข่อยยกย่องว่า หากใครเลี้ยงแมวพันธุ์นี้แม้เพียงตัวเดียวก็จะได้เป็นขุนนาง จึงสันนิษฐานได้ว่า แมวชนิดนี้คงเป็นแมวในราชสำนัก หรือเป็นแมวบ้านเจ้าขุนมูลนาย ชาวบ้านธรรมดาคงไม่มีโอกาสได้เลี้ยง


แมววิเชียรมาศนี้คนไทยปัจจุบันมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นแมวเก้าแต้ม ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นชื่อของแมวอีกพันธุ์หนึ่งในสมุดข่อยโบราณซึ่งได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ชาวต่างประเทศเรียกแมววิเชียรมาศว่า แมวแต้มสีครั่ง หรือ Seal point ด้วยเหตุผลที่มีแต้มสีน้ำตาลไหม้ตอนปลายหาง 1 จมูก 1 ปลายขาทั้ง 4 ข้าง 4 ปลายหู 2 และที่อวัยวะเพศอีก 1 ทั้งนี้ลูกแมวที่เกิดใหม่จะยังไม่มีแต้มสีใดๆ แต่เมื่ออายุ 5 วันขึ้นไป จะเริ่มมีแต้มสีปรากฏขึ้น และครบทั้ง 9 แห่งเมื่ออายุได้ 3 เดือน ซึ่งแมวพันธุ์อื่นในโลกจะไม่มีแต้มเป็นระเบียบเช่นแมวพันธุ์นี้ ซึ่งเป็นแมวพันธุ์แท้ตลอดกาล เพราะไม่ว่าจะเอาไปผสมกับแมวพันธุ์ใด ก็จะปรากฏแต้มเช่นเดิมเสมอ แบบแมวพันธุ์ต่างประเทศที่มีการผสมกับแมวพันธุ์นี้ และชาวต่างประเทศได้นำแมวไทยไปผสมจนได้แต้มสีสีต่างๆที่ต่างไปจากเดิม เช่นสี Blue ผู้เชี่ยวชาญด้านแมวไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการผสมกันระหว่างแมวสีสวาดและแมววิเชียรมาศ จึงได้แมวชนิดนี้ ที่มีแต้มสี Blue ที่อวัยวะทั้ง 9 แห่ง และมีผิวสีเทาอมเงินแบบสีสวาด นอกจากนี้ยังมีสีต่างๆที่ได้รับการผสมอีก เช่น สี Chocolate อันเป็นการผสมระหว่างแมวทองแดงกับแมวที่มีแต้มสีแบบ Blue (ได้รับการรับรองเมื่อปี ค.ศ. 1934) แต้มสีแดง (Red) แต้มสีแบบ Lilac และแต้มสีแบบ Tortie เป็นต้น


ลักษณะเด่นของแมวพันธุ์นี้ก็คือ รูปร่างเพรียว ดวงตาสีฟ้าเป็นประกาย เอียงเข้าหาจมูก เป็นรูปทรงเมล็ดอัลมอนด์ ช่วงขายาว เท้าทั้ง 4 ดูบอบบาง ด้านหลังยาวและยกสูงกว่าด้านหน้าเล็กน้อย รูปเท้าเรียวแต่ฝ่าเท้าอวบ หางยาวเรียวแต้มตรงหางมีสีเข้มและเริ่มจางลงที่โคนสะโพก ศีรษะรูปยาวได้ส่วน หูใหญ่ตั้งชัน ปลายหูแหลม โคนหูกว้าง เส้นขนดกละเอียดหนาแน่นแมววิเชียรมาส ตรงกับความหมายว่า "เพชรแห่งดวงจันทร์" หรือ "Moon Diamond" บางตำราก็เรียก "แมวแก้ว" ซึ่งก็ตรงกับคำว่า "วิเชียร" หรือบางคนเรียก "วิเชียรมาศ" ซึ่งหมายถึง "ทองแกมแก้ว" ประวัติของแมวพันธุ์นี้ในต่างประเทศคือ เมื่อปี พ.ศ. 2427 ชาวอังกฤษชื่อนายโอเวน กูลด์ (Owen Gould) กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้นำแมวไทยคู่หนึ่งจากประเทศไทยไปฝากน้องสาวที่อังกฤษ อีกหนึ่งปีต่อมา แมวคู่นี้ถูกส่งเข้าประกวดในงานประกวดแมวที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ปรากฏว่าชนะเลิศได้รางวัลที่หนึ่ง ทำให้ชาวอังกฤษพากันแตกตื่นเลี้ยงแมวไทยกันจนมีสโมสรแมวไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2443 ชื่อว่า The Siamese Cat Clubs ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ได้มีการตั้งสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษขึ้น หรือ The Siamese Cat Society of the British Empire ขึ้นมาอีกสมาคมหนึ่งแมววิเชียรมาศมีลักษณะนิสัยขี้อ้อน ชอบอยู่กับคน รักอิสระ ฉลาด รักเจ้าของ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เสียงร้องดังและไพเราะดุจเสียงร้องเพลง